搜索此博客

2011年6月21日星期二

ทฤษฏีการอพยพของคนไทย ( คนไทยมาจากไหน)

คนไทยมาจากไหน

     ปัจจุบันถ้ามีคนถามเราว่า “คนไทยมาจากไหน” เราคงจะตอบไม่ได้ง่าย ๆ เมื่อก่อนถ้ามีผู้มาถามเราเช่นนี้ เราก็คงตอบไปว่า “มาจากภูเขาอัลไต” หรือ "มาจากมณฑลเสฉวน บริเวณตรงกลางของประเทศจีน” แต่ปัจจุบัน การศึกษาคนคว้าในเรื่องนี้มีมากขึ้น ทำให้ข้อสันนิษฐานที่แตกต่างไปจากเดิมมีมากขึ้นด้วย
      ขณะนี้ไม่มีนักประติศาสตร์ท่านใดสามารถสรุปได้ว่าชนชาติไทยมาจากไหนกันแน่ แต่เท่าที่ค้นคว้ากันมา มีความเชื่อต่าง ๆ กันดังนี้

   ๑.    เดิมคนไทยอยู่ในบริเวณมณฑลเสฉวน  ตรงลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงในตอนกลางของประเทศจีนปัจจุบัน แล้วค่อยอพยพมาทางตอนใต้ของจีน จากนั้นก็ลงมาสู่แหลมอินโดจีน ผู้เสนอความคิดนี้เป็นคนแรกก็คือ Terrien de la Couperie เขาเสนอผลงานเรื่อง The Cradle of the Shan Race (2428) คนไทยที่เชื่อตามทฤษฎีนี้มีหลายคน เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  หลวงวิจิตรวาทการ และรอง ศยามานนท์ เป็นต้น

   ๒.    เดิมคนไทยอยู่ในบริเวณเทือกเขาอัลไต หมอสอนศาสนาชาวอเมริกันเป็นผู้เสนอความคิดนี้ เขาคือ William Clifton Dodd งานเขียนเรื่อง The Tai Race : The Eider Brother of the Chinese (2452) เป็นที่สนใจของนักประวัติศาสตร์อย่างกว้างขวาง และมีอิทธิพลต่องานของ  W.A.R.  Wood  ในเรื่อง  A  History  of  Siam  และขุนวิจิตรมาตรา ในเรื่อง “หลักไทย”

   ๓   .  เดิมคนไทยอยู่กระจัดกระจายทั่วไปในบริเวณทางตอนใต้ของจีนและทางตอนเหนือของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดจนบริเวณแคว้นอัสสัมในอินเดีย  ผู้ที่เสนอความคิดนี้ก็คือ  ArchibaI R. Colguhoun เขาเป็นชาวอังกฤษ เดินทางสำรวจดินแดนตั้งแต่ทางภาคใต้ของจีนจากกวางตุ้งเข้าไปในพม่า จากนั้นเขาก็เขียนหนังสือเรื่อง Chryse (2428) ต่อมาความคิดนี้ได้รับความสนใจนำไปค้นคว้าต่อ  คนสำคัญที่นำความคิดนี้ไปขยายต่อก็มีเช่น E.H. Parker เขาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องน่านเจ้าพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ผู้เขียนพงศาวดารโยนกก็เชื่อว่า  คนไทยมาจากทางตอนใต้ของจีน  นอกจากนี้ยังมีคนอื่น ๆ เช่น G. Coedes  W. Credner  W. Eberhard F. Mote ม.จ. สุภัทรดิศ  ดิศกุล  ขจร  สุขพานิช  และจิตร  ภูมิศักดิ์ ฯลฯ เมื่อไม่นานมานี้ก็มีคนทำวิทยานิพนธ์ปริณญาเอกทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการอพยพของชนชาติไทย เขาคือ H.W. Woodward นักประวัติศาสตร์ผู้นี้เชื่อว่าแนวทางอพยพของคนไทยอาจมาทางลาวและลุ่มแม่น้ำป่าสักลงสู่ภาคกลางของประเทศไทย

   ๔.     คนไทยไม่ได้มาจากไหน แต่ถิ่นเดิมของคนไทยก็คือบริเวณพื้นที่ประเทศไทยปัจจุบัน นักวิชาการที่เสนอความคิดนี้ก็คือ PauI Benedict นักภาษาศาสตร์และมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน เขาค้นคว้าเรื่องชนชาติไทยโดยใช้หลักฐานด้านภาษาศาสตร์ จากการค้นคว้าทำให้เขาเชื่อว่าภาษาไทยเป็นภาษาใหญ่ของชนชาติเอเชีย อยู่ในตระกูลออสตริก หรือออสโตรนีเซียน  แยกสาขาเป็นพวกไทย  ชวา-มลายู  และทิเบต-พม่า  ดังนั้นเผ่าพันธุ์ของคนไทยจึงไม่น่าจะเป็นพวกมองโกล  แต่น่าจะเป็นพวกชวา-มลายู ประมาณ   ๔,๐๐๐-๓,๕๐๐ ปี การรุกรานของพวกมอญ เขมร จากอินเดีย เข้ามาในแหลมอินโดจีน น่าจะเป็นเหตุทำให้คนไทยขึ้นไปทางใต้ของจีน แต่เมื่อถูกจีนรุกรานก็ต้องถอยร่นไปในเขตแคว้นอัสสัม ฉาน ลาว ไทย และบริเวณตังเกี๋ยหรือบริเวณเวียดนามเหนือปัจจุบัน  นักวิชาการที่สนับสนุนความคิดนี้ก็มี นายแพทย์สุด  แสงวิเชียร  ผู้ค้นคว้าโดยอาศัยหลักฐานจากการเปรียบเทียบโครงกระดูกมนุษย์สมัยหินที่ขุดค้นพบในบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี

    ๕    .  เดิมคนไทยอยู่ในบริเวณคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะต่าง ๆ ในอินโดนีเชียก่อน แล้วต่อมาก็อพยพเข้าสู่บริเวณประเทศไทยปัจจุบัน ความคิดนี้ค่อนข้างใหม่มาก ผู้เสนอคือ สมศักดิ์  สุวรรณสมบูรณ์ เขาใช้หลักฐานทางด้านการแพทย์ คือการสุ่มตัวอย่างกลุ่มเลือดของคนไทยกับอินโดจีนปัจจุบัน  ปรากฏว่ามีความคล้ายคลึงกัน

      จากที่กล่าวมาทั้งหมดก็แสดงให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องความเป็นมาของคนไทยก่อนสมัยประวัติศาสตร์ยังไม่ยุติ แต่เท่าที่เราสามารถยึดถือได้ชั่วคราวก็คือความเชื่อของนักวิชาการที่ได้รับความนิยมในข้อ ๒ และ ๓ นั่นคือคนไทยอพยพจากถิ่นอื่นเข้ามาในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และแนวการอพยพเป็นแนวเหนือลงมาทางใต้ กระจัดกระจายตามบริเวณที่ใกล้เคียงกันทางตอนใต้ของจีน เช่น ตามบริเวณมณฑลเสฉวน ยูนนาน แคว้นอัสสัม ฉาน ตอนเหนือของเวียดนาม ลาว และกัมพูชา เป็นต้นส่วนความเชื่อในข้อ ๔ และ ๕ นับว่าค่อนข้างใหม่ ยังไม่เป็นที่ยอมรับหรือมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางต่อความเข้าใจของคนไทยในด้านความเป็นมาของตนเอง อย่างไรก็ดี สำหรับความเชื่อในข้อ ๔ กำลังเป็นที่ยอมรับและเป็นที่สนใจมากขึ้นในปัจจุบัน


อ้างอิง      ข้อมูลนี้รวบรวมโดย พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล จากหนังสือ  “เอกสารประกอบการให้ความรู้ทางวัฒนธรรมไทยแก่ผู้เดินทางไปตางประเทศ” ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”

没有评论:

发表评论