搜索此博客

2011年7月12日星期二

郑和 เจิ้งเหอ

เจิ้งเหอ - แม่ทัพเรือจีนมุสลิม
๒๘ ปีที่จีนครอบครองท้องทะเลโลก
เรียบเรียงโดย อัล-ฮิลาล นักเขียนและนักวิชาการมุสลิม

                      
เจิ้งเหอ - แม่ทัพเรือจีนมุสลิม
(Zheng He
หรือ Cheng Ho)เจิ้งเหอ(ค.ศ.1371-1433) เป็นผู้บัญชาการกองเรือมหาสมบัติของจีนสมัยราชวงศ์หมิง(ค.ศ.1368-1644) การเดินเรือสำรวจทางทะเลในระยะเวลา 28 ปีของเจิ้งเหอ ประกอบด้วยกองเรือกว่า 300 ลำ ลูกเรือเกือบ 28,000 ชีวิต ออกสำรวจทางทะเลรวม 7 ครั้ง เดินทางมากกว่า 50,000 กิโลเมตร ท่องต่างแดนมากกว่า 30 ประเทศจากทะเลจีนใต้ไปจนถึงชายฝั่งตะวันออกของอาฟริกา เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฏาคม ค.ศ. 1405 (พ.ศ.1948) ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระรามราชาธิราชแห่งราชวงศ์อู่ทองปกครองกรุงศรีอยุธยา สิ้นสุดในปีค.ศ.1433 (พ.ศ.1976) พร้อมกับการเสียชีวิตของเจิ้งเหอ กองเรือมหาสมบัติของจีนเคยติดต่อกับอาณาจักรอยุธยาด้วย กาวิน แมนซี (Gavin Menzies)(1) อดีตทหารเรือชาวอังกฤษ เสนอทฤษฎีว่า ในการเดินเรือครั้งหนึ่งของเจิ้งเหอ เขาน่าจะไปไกลถึงทวีปอเมริกา ซึ่งหากเป็นจริง เขาก็จะเป็นผู้ค้นพบทวีปอเมริกาก่อนโคลัมบัสเกือบร้อยปี ภูมิหลังเจิ้งเหอ เจิ้งเหอ เป็นคนชนชาติหุย(2) แซ่หม่า (แปลว่า "ม้า" และเกี่ยวพันกับคำภาษาอาหรับว่า "มุฮัมหมัด") ซึ่งเป็นแซ่ของชาวหุยส่วนใหญ่ เดิมชื่อ "หม่าเหอ" เกิดในครอบครัวมุสลิม ที่เมืองคุนหยาง มณฑลหยุนหนัน ซึ่งเป็นที่มั่นสุดท้ายของกองทัพมองโกล และพวกที่ภักดีต่อมองโกลทางตอนใต้ของประเทศจีนที่ราชวงศ์หมิงยังยึดไม่ได้ในสมัยนั้น(3) เขาเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1371 (พ.ศ.1914) ในต้นราชวงศ์หมิง เป็นลูกหลานชั้นที่หกของ ซัยยิด อัจญาล ชัมสุดดีน อุมัร (Sayyid Ajjal Shams al-Din Omar) แม่ทัพของกองทัพมองโกล จากบุคอรอ (4) เอเชียกลาง ซึ่งเป็นผู้ปกครองมณฑลเสฉวนและหยุนหนันผู้ลือนาม เจิ้งเหอมีพี่ชาย 1 คน พี่สาว 1 คน และน้องสาว 3 คน บิดาของเจิ้งเหอมีนามว่า ฮายีหม่า (Ma Hazhi หรือ Ma Haji) ทั้งพ่อและปู่ของเจิ้งเหอได้ไปทำพิธีฮัจญ์ในมักกะฮ (5) จึงได้พบเห็นผู้คนจากทุกสารทิศ และต้องเล่าเรื่องนี้แก่เจิ้งเหออย่างแน่นอน เมื่อหม่าเหออายุได้ 11 ปี ตรงกับช่วงที่กองทัพของจูหยวนจาง หรือจักรพรรดิหมิงไท่จู่ (ชื่อรัชกาล "หงอู่") ปฐมราชวงศ์หมิง นำกำลังทัพเข้ามาปราบปรามที่มั่นสุดท้ายของพวกเชื้อสายมองโกลที่ยังหลงเหลืออยู่ที่หยุนหนัน และยึดครองหยุนหนันเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรหมิงได้สำเร็จในปีค.ศ.1382 ในเวลานั้นเด็กชายหม่าเหอผู้มีเชื้อสายจากเอเชียกลาง ถูกจับกลับไปยังเมืองหลวง และถูกตอนเป็นขันทีมีหน้าที่รับใช้เจ้าชายจูตี้ หม่าเหอมีความสามารถสูง เฉลียวฉลาด ได้รับความไว้วางใจอย่างสูง กระทั่งต่อมาได้กลายเป็นแม่ทัพคู่ใจของเจ้าชายจูตี้ ในการทำศึกรบพุ่งกับกองทหารมองโกลทางตอนเหนือ และการยกทัพเข้ายึดนครนานกิง ช่วงชิงราชบัลลังก์จากพระราชนัดดาคือ จักรพรรดิหมิงฮุ่ยตี้ (ชื่อรัชกาล "เจี้ยนเหวิน") ที่สืบราชบัลลังก์ต่อจากหมิงไท่จู่ ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์หมิง หม่าเหอมีส่วนสำคัญช่วยให้จูตี้ได้รับชัยชนะขึ้นสู่บัลลังก์เป็นจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (ค.ศ.1403-1424) จักรพรรดิองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์หมิง มีชื่อรัชกาลว่า "หย่งเล่อ" ในปีค.ศ.1404 จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ตั้งให้หม่าเหอเป็นหัวหน้าขันที และพระราชทานแซ่เจิ้งให้ เรียกว่า "เจิ้งเหอ" แต่ชื่อที่รู้จักกันดีก็คือ "ซันเป่ากง" หรือ "ซำปอกง"
ตามบันทึกในประวัติศาสตร์จีน เจิ้งเหอมีรูปร่างสูงใหญ่กว่า 7 ฟุต น้ำหนักเกิน 100 กก. ท่วงท่าเดินสง่าน่าเกรงขามเหมือนราชสีห์ น้ำเสียงกังวานมีพลัง ภายหลังการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระองค์ได้เพียงปีเดียว จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ก็มีบัญชาให้สร้างกองเรือสินค้า เรือรบ และเรือสนับสนุน เพื่อไปเยือนเมืองท่าต่างๆ ในทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดีย นับเป็นกองเรือที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ชาติจีนและของโลกในยุคนั้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการออกไปแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าและเครื่องราชบรรณาการจากรัฐต่างๆ อันจะสร้างความมั่งคั่งให้กับราชสำนักหมิง และความสันติสุขในบรรดาประเทศทางตอนใต้ นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงต้องการออกไปตามหาจักรพรรดิหมิงฮุ่ยตี้ พระราชนัดดา ที่ร่ำลือกันว่าได้ทรงปลอมเป็นพระหลบหนีออกจากวังไปได้ในระหว่างที่พระองค์ยกทัพเข้ายึดนครนานกิง โดยทรงเชื่อว่าพระราชนัดดาได้หลบหนีไปทางทะเลจีนใต้
ทั้งนี้ จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ทรงมอบภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้ให้กับเจิ้งเหอ ในการควบคุมการก่อสร้างกองเรืออันยิ่งใหญ่ และเป็นแม่ทัพผู้บัญชาการสูงสุด ออกสมุทรยาตราไปบนผืนท้องสมุทร ในฐานะที่เป็นตัวแทนแห่งองค์จักรพรรดิมังกร การเดินทางสำรวจทางทะเลของเจิ้งเหอถูกบันทึกไว้โดย หม่าฮวน หรือ มุฮัมหมัดหม่าฮวน หนุ่มจีนมุสลิมจากชนชาติหุยชนชาติเดียวกับเจิ้งเหอ เขาสามารถพูดภาษาอาหรับได้ และเป็นล่ามให้เจิ้งเหอ เขาบันทึกการสำรวจทะเลของเจิ้งเหอในหนังสือชื่อ "Ying yai sheng lan" หรือ "การสำรวจชายฝั่งมหาสมุทร" (The Overall Survey of the Ocean's Shores)
จากคุณ : sss - [ 7 ม.ค. 49 17:52:22 A:58.9.20.64 X: TicketID:114349 ]

เส้นทางเดินเรือ เส้นทางเดินเรือของเจิ้งเหอเริ่มต้นที่นครนานกิง จากนั้นแวะไปยังเมืองเหล่านี้คือ จามปา (Champa ตอนกลางของเวียดนาม) กัมพูชา (Cambodia กัมพูชา) สยาม (Siam ประเทศไทย) มะละกา (Malacca มาเลเซีย) ปาหัง (มาเลเซีย) กลันตัน (Kelantan มาเลเซีย) บอร์เนียว(Borneo เกาะบอร์เนียว หรือกาลิมันตัน) มัชฌปาหิต(Majapahit เกาะชวา อินโดนีเซีย) ซุนดา(Sunda เกาะชวา อินโดนีเซีย) ปาเล็มบัง(Palembang เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย) เซมูดารา(Semudara เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย) Aru(อินโดนีเซีย) แลมบรี(Lambri อินโดนีเซีย) Lide(อินโดนีเซีย) Batak(อินโดนีเซีย) ศรีลังกา(Ceylon) มัลดีฟส์(Maldives มัลดีฟส์) กาลิกัท(Calicut อินเดีย) คีลอน(Quilon อินเดีย) มะละบาร์ (Malabar อินเดีย) ฮอร์มุซ(Hormuz เปอร์เซีย ปัจจุบันอยู่ในอิหร่าน) โดฟา(Dhofar) เอเดน(Aden เยเมน) ซานา(Sana) มักกะฮฺ(Mecca ซาอุดิอารเบีย) มากาดิซู(Magadishu) บราวา(Brawa โซมาเลีย) มาลินดิ(Malindi เคนยา) 






สมุทรยาตราทั้ง 7 ครั้ง การเดินเรือทั้ง 7 ครั้งของเจิ้งเหอมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1)
ครั้งที่ 1 (ค.ศ.1405-1407 /พ.ศ.1948-1950) เจิ้งเหอเป็นผู้บัญชาการ มีขันทีหวังจิ่งหง(Wang Jinghong) เป็นรองแม่ทัพ (6) กองเรือจำนวน 317 ลำ พร้อมด้วยลูกเรือ 27,870 ชีวิต จอดแวะที่จามปา(เวียตนาม) มัชฌปาหิต บนเกาะชวา และเซมูดารา ปาเล็มบัง และ Deli ชายฝั่งด้านเหนือของเกาะสุมาตรา จากนั้นได้เดินเรือไปถึงศรีลังกา และเมืองท่ากาลิกัท ประเทศอินเดีย ซึ่งเรียกกันว่า "ประเทศที่ยิ่งใหญ่แห่งมหาสมุทรตะวันตก" (the Great Country of the Western Ocean) กองเรือของเจิ้งเหอได้ปราบปรามกลุ่มโจรสลัดที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการเดินเรือบริเวณช่องแคบมะละกา และจับหัวหน้าโจรสลัดซึ่งเป็นคนจากมณฑลกวางตุ้งนามเฉินจู่อี้ (Chen Zuyi ) มาสำเร็จโทษที่นครนานกิง เจิ้งเหอไม่พบร่องรอยของอดีตจักรพรรดิหมิงฮุ่ยตี้ที่สันนิษฐานว่า อาจหลบหนีมาอยู่อาศัยอยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในปี ค.ศ.1407 จีนได้เข้ารุกรานอันนาม (Annam) หรือเวียดนามเหนือ และยึดครองอยู่จนถึงปี ค.ศ.1427

2)
ครั้งที่ 2 (ค.ศ.1407-1409 / พ.ศ.1950-1952) เจิ้งเหอเป็นผู้บัญชาการ มีขันทีหวังจิ่งหงเป็นรองแม่ทัพ รวมทั้งหู เซียน (Hou Xian) (7) คาดว่าในการเดินเรือครั้งนี้ กองเรือของเจิ้งเหอได้นำตัวฑูตอยุธยาที่เดินทางไปยังราชสำนักหมิงด้วยตัวเองก่อนหน้านี้กลับไปส่งที่เมืองอยุธยาด้วย นอกจากนี้เจิ้งเหอได้แต่งตั้งเจ้าเมืองคนใหม่ของเมืองกาลิกัท ในการเดินเรือครั้งที่ 2 นี้ กองเรือจอดแวะที่จามปา สยาม(อยุธยา) มัชปาหิต(Majapahit) บนเกาะชวา และเซมูดารา และ Deli ชายฝั่งด้านเหนือของเกาะสุมาตรา จากนั้นได้เดินเรือไปถึงศรีลังกา และเมืองท่ากาลิกัท ประเทศต่างๆ ส่งบรรณาการที่มีค่า รวมทั้งนกและสัตว์หายาก

เชื่อกันว่า การเข้ามาถึงสยามหรือกรุงศรีอยุธยาของกองเรือเจิ้งเหอในปีนั้น ทำให้มีการเปลี่ยนราชวงศ์ของอยุธยา เจ้านครอินทร์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ผู้เคยไปเยือนและพำนักในราชสำนักหมิงนับปี ก้าวขึ้นมาเป็นกษัตริย์อยุธยาแทนสมเด็จพระรามราชาธิราชแห่งราชวงศ์อู่ทอง ซึ่งปกครองกรุงศรีอยุธยาอยู่ในขณะนั้น

3)
ครั้งที่ 3 (ค.ศ.1409-1411 / พ.ศ.1952-1954) นอกจากเจิ้งเหอและหวังจิ่งหงแล้ว มีเฟ่ย สิน(Fei Xin) (8) ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการนำกองเรือ ในการเดินเรือครั้งนี้ จีนให้ความสำคัญกับเรื่องมะละกามากเป็นพิเศษ มะละกาเป็นเมืองท่าบนชายฝั่งมาเลย์ที่เริ่มมีความสำคัญ ในขณะที่แวะที่เมืองมะละกา เจิ้งเหอได้รับรองอำนาจการปกครองมะละกาของปรเมศวร และมอบตราเป็นทางการประกาศว่ามะละกาเป็นเมืองในความคุ้มครองของจักรวรรดิจีน จีนเพิ่มอำนาจมะละกาเพื่อให้คานอำนาจกับอยุธยาและชวา และเพื่อยืนยันอำนาจการค้าของจีนในช่องแคบมะละกา
หลังแวะที่เซมูดารา กองเรือแล่นต่อไปยังศรีลังกา ที่นี่ชาวพื้นเมืองเปิดศึกแย่งชิงอำนาจกัน กษัตริย์ของศรีลังกาชื่อ Alagakkonara แสดงท่าทีไม่เคารพโอรสแห่งสวรรค์ และวางแผนโจมตีกองเรือของเจิ้งเหอ กองทหารจีนจึงบุกเข้าไปยึดเมือง จับกุมตัวกษัตริย์ แล้วตั้งกษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นแทน ส่วนกษัตริย์องค์เดิมถูกกองเรือจีนนำกลับไปนครนานกิง เพื่อให้องค์จักรพรรดิพิจารณาโทษ แต่จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่พระราชทานอภัยโทษให้ ต่อมาเจิ้งเหอนำตัวกษัตริย์ศรีลังกากลับมาส่งที่เดิมในการเดินเรือครั้งที่ 4

4)
ครั้งที่ 4 (ค.ศ.1413-1415 / พ.ศ.1956-1958) การเดินทางครั้งนี้ไปไกลถึงเมืองฮอร์มุซ และอ่าวเปอร์เซียเป็นครั้งแรก กองเรือจอดแวะที่จามปา เกาะชวา ชายฝั่งมาเลย์ ศรีลังกา มัลดีฟ เมืองท่าของอินเดีย และฮอร์มุซ ส่วนหนึ่งของกองเรือแล่นไปอ่าวเบงกอล และนำยีราฟกลับมาถวายพระจักรพรรดิ ชาวจีนคิดว่า ยีราฟคือกิเลน สัตว์นำโชคในเทพนิยายของจีน

ที่เกาะสุมาตราเจิ้งเหอใช้กำลังทหารจับกุมตัวเซกานดาร์(Sekanda) ผู้นำกบฏแห่งเมืองเซมูดารา (Semudara) บนเกาะสุมาตรา กลับมาสำเร็จโทษที่นครนานกิง เนื่องจากกษัตริย์ของเมืองที่ชื่อ Zaynu-'l-Abidin ส่งฑูตไปร้องเรียนจักรพรรดิจีนที่เมืองนานกิง การเดินทางครั้งนี้ทำให้กองเรือจีนมีอิทธิพลเหนือน่านน้ำมหาสมุทรอินเดียอย่างสูง
ในปี ค.ศ. 1415 จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ทรงย้ายเมืองหลวงจากนานกิงไปยังปักกิ่ง หรือเมืองเป่ยผิงเดิม ในปีนี้กษัตริย์จากมะละกาพร้อมด้วยพระมเหสี และพระโอรส เดินทางไปยังราชสำนักหมิง เพื่อถวายบรรณาการต่อองค์จักรพรรดิ

5)
ครั้งที่ 5 (ค.ศ.1417-1419 / พ.ศ.1959-1962) ในการเดินทางครั้งนี้ กองเรือได้นำคณะทูตต่างแดน 19 คนที่มากับกองเรือของเจิ้งเหอครั้งที่ผ่านมาเพื่อนำบรรณาการมาถวายแด่พระจักรพรรดิจีน กลับไปส่งยังประเทศของเขาเหล่านั้น ครั้งนี้เจิ้งเหอได้นำกองเรือมหาสมบัติมาเทียบท่าถึงชายฝั่งทวีปแอฟริกาตะวันออกเป็นครั้งแรก ช่วงต้นของการเดินเรือ ขณะแวะจอดที่เมืองกวางสู(Quanzhou) เพื่อคัดเลือกลูกเรือเพิ่มเติมจากหมู่บ้านมุสลิมเล็กๆ ที่ชื่อ Baiqi ด้านเหนือของเมือง(9) เจิ้งเหอได้เข้าห้ามปรามการประหัตประหารชาวมุสลิมที่นั่น จากนั้นกองเรือได้แวะจอดที่เมืองท่าหลายแห่งในจามปาและชวา ที่ปาเล็มบัง และเมืองท่าหลายเมืองบนเกาะสุมาตรา แวะที่มะละกาบนคาบสมุทรมาเลย์ เกาะมัลดีฟส์ ศรีลังกา โคชินและกาลิกัท จักรวรรดิจีนโดยเจิ้งเหอได้รับรองกษัตริย์องค์ใหม่แห่งเมืองโคชิน ชื่อโคยะรี เพื่อป้องกันการคุกคามจากเพื่อนบ้าน คือเมืองกาลิกัท กองเรือได้สำรวจชายฝั่งอารเบียจากเมืองฮอร์มุซจนถึงเอเดน และชายฝั่งทะเลตะวันออกของอาฟริกา การเดินทางครั้งนี้ เจิ้งเหอบันทึกไว้ว่า เจ้าเมืองฮอร์มุซถวายสิงโต เสือดาว และม้า เจ้าเมืองเอเดนถวายยีราฟ เมืองมากาดิซูถวายม้าลายและสิงโต เมืองบราวา(Brava)ถวายอูฐ (เจิ้งเหอบรรยายว่า "ซึ่งวิ่งได้ 1,000 ลี้") และนกกระจอกเทศ (เจิ้งเหอบันทึกว่า "อูฐที่บินได้") (10)

6) ครั้งที่ 6 (ค.ศ.1421-1423 / พ.ศ.1964-1966) การเดินเรือครั้งนี้เอง ที่กาวิน แมนซี ได้เสนอทฤษฎีการเดินเรือสำรวจโลกใหม่ของกองเรือมหาสมบัติของจีน ในหนังสือชื่อ 1421 : The Year China Discovered The World ว่าได้ไปค้นพบทวีปอเมริกาก่อนคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ถึง 70 ปี พร้อมทั้งได้เดินเรือสำรวจทวีปอเมริกาเหนือ ขั้วโลกเหนือ อเมริกาใต้ ขั้วโลกใต้ กระทั่งข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมาถึงทวีปออสเตรเลีย และกลับสู่ประเทศจีนทางด้านตะวันออก ซึ่งถือเป็นการสำรวจรอบโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเดินเรือของโลก
นอกจากนำตัวคณะทูตจากเมืองฮอร์มุซและประเทศต่างๆ ซึ่งมากับกองเรือครั้งที่ผ่านมากลับไปส่งแล้ว การเดินเรือครั้งนี้กองเรือได้สำรวจชายฝั่งอาฟริกามากกว่าเดิม ที่เซมูดารา กองเรือได้แยกไปสำรวจตามที่ต่างๆ ส่วนใหญ่ของกองเรือเดินทางไปเอเดน และเมืองชายฝั่งตะวันออกของอาฟริกา ปี ค.ศ.1419-23 มีการก่อกบฏที่แคว้นอันนาม
ปี ค.ศ.1421 ไฟไหม้พระราชวังต้องห้ามที่ปักกิ่ง จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่อนุญาตให้มีการวิพากวิจารณ์พระองค์ แต่ภายหลังพระองค์กลับสั่งประหารผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์
ปี ค.ศ.1422 จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่วางแผนโจมตีมองโกลทางด้านเหนือ
ปี ค.ศ.1424 จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่สิ้นพระชนม์ระหว่างเดินทัพไปปราบมองโกล
ปี ค.ศ.1424 พระโอรสองค์โตของจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ขึ้นครองราชย์มีชื่อว่า จักรพรรดิหมิงเหยินจง ชื่อรัชกาล หงชวี่ พระองค์ทรงเชื่อฟังขุนนางลัทธิขงจื๊อ และจะลดการเก็บภาษีที่นำมาใช้จ่ายสร้างกองเรือลง ปีค.ศ.1424 พระจักรพรรดิออกพระราชโองการให้หยุดการสำรวจทะเลของกองเรือมหาสมบัติ
ปีค.ศ.1425 พระจักรพรรดิสิ้นพระชนม์
ปีค.ศ.1425-1435 องค์ชายจูจานจีขึ้นเป็นพระจักรพรรดิหมิงเซวียนจง เมื่อพระชนม์ได้ 26พรรษา มีนามรัชกาลว่า "ซวนเด๋อ" (Xuande)ปีค.ศ.1430 กองเรือมหาสมบัติไม่ได้ออกท่องสมุทรมา 6 ปีเต็ม พระจักรพรรดิหมิงเซวียนจงทรงเริ่มมองเห็นว่า ประเทศต่างแดนที่มาถวายบรรณาการแก่ราชสำนักหมิงมีจำนวนลดน้อยลงจนเห็นได้ชัด คงเป็นเพราะอิทธิพลของจีนในการค้าต่างแดนลดลง พระองค์จึงตั้งปณิธานที่จะฟื้นฟูพระราชอำนาจของราชวงศ์หมิงต่อต่างแดน และจะทำให้"หมื่นประเทศมาเป็นแขกของเรา" อีกครั้ง ทรงออกพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ.1430 มีใจความว่า :

"
รัชกาลใหม่แห่งซวนเด๋อได้เริ่มขึ้นแล้ว และทุกอย่างจะต้องเริ่มกันใหม่ แต่ประเทศต่างแดนไกลโพ้นดูเหมือนจะยังไม่ทราบข่าวนี้ ดังนั้นเราจึงจะส่งขันทีเจิ้งเหอและขันทีหวังจิ่งหงออกไปพร้อมด้วยโองการแห่งเรา เพื่อแนะนำประเทศเหล่านี้ให้ปฏิบัติตามโอรสแห่งสวรรค์ด้วยความเคารพ และดูแลประชาชนในบังคับบัญชาของตนอย่างดี เพื่อให้มีโชคดีและสันติสุขสืบไป"
(11)

7)
ครั้งที่ 7 (ค.ศ.1431-1433 / พ.ศ.1974-1976) เป็นการเดินทางสำรวจทางทะเลครั้งสุดท้ายของเจิ้งเหอ ก่อนการเดินทาง เจิ้งเหอได้เขียนจารึกไว้ที่แผ่นหิน 2 แผ่นที่เมืองฝูเจี้ยน ถึงการออกสำรวจครั้งที่ผ่านๆ มา ซึ่งได้กลายมาเป็นหลักฐานสำคัญในเวลาต่อมา นอกจากจอดแวะที่จามปาและชวาแล้ว กองเรือยังจอดแวะที่ปาเล็มบัง มะละกา เซมูดารา ศรีลังกา และกาลิกัท ในการเดินทางครั้งนี้เจิ้งเหอได้รับประกาศิตจากพระจักรพรรดิห้ามกษัตริย์อยุธยามิให้รุกรานราชอาณาจักรมะละกา
ที่เมืองกาลิกัทนี้ กองเรือชุดหนึ่งได้แยกไปทางชายฝั่งอาฟริกาตะวันออก ไปยังเมืองมาลินดิ(Malindi) ซึ่งอยู่ในประเทศเคนยาในปัจจุบัน นอกจากนี้บางส่วนค้าขายแถบทะเลแดง ในขณะที่ลูกเรือบางส่วนแยกไปทำพิธีฮัจญ์หรือแสวงบุญที่เมืองมักกะฮฺ จากนั้นขบวนเรือที่แยกไปทั้งหมดกลับมารวมตัวกันที่เมืองกาลิกัท และท่องสมุทรกลับนครนานกิง ระหว่างทางเจิ้งเหอได้เสียชีวิตลงด้วยวัย 62 และร่างถูกฝังในท้องทะเลลึก ซึ่งครอบครัวของเขาเชื่อกันมาอย่างนี้ ทั้งนี้ตามหลักศาสนาอิสลาม เมื่อมีผู้เสียชีวิตในท้องทะเล จะต้องนำร่างผู้เสียชีวิตมาอาบน้ำศพ ห่อด้วยผ้าขาว หันศีรษะของผู้เสียชีวิตไปทางเมืองมักกะฮฺก่อนจะหย่อนร่างลงท้องทะเล ก่อนเสียชีวิตเจิ้งเหอได้สั่งให้นำเส้นผมและรองเท้าของเขากลับไปฝังที่เชิงเขา Nishou นอกเมืองนานกิง ซึ่งสุสานหรือกุโบร์จำลองของเขาก่อสร้างตามแบบมุสลิม เรียกว่า เจิ้งเหอมู่ หรือ สุสานเจิ้งเหอ ได้รับการบูรณะใหม่ในปี ค.ศ. 1985 บนสุสานมีอักษรภาษาอาหรับจารึกไว้เพียง 2 คำเท่านั้นว่า อัลลอฮุ อักบารฺ (Allah Akbar) แปลว่า อัลลอฮฺใหญ่ยิ่ง (Allah is Great)ปีค.ศ.1435 พระจักรพรรดิหมิงเซวียนจงสิ้นพระชนม์ เมื่อจักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ ขุนนางฝ่ายถือลัทธิขงจื๊อตำหนิว่า การเดินเรือของเจิ้งเหอเป็นการสูญเสียทรัพยากรมหาศาล ในขณะที่จีนกำลังเผชิญกับการรุกรานจากคนป่าเถื่อนทางชายแดนตะวันตก จักรพรรดิจีนจึงให้ความสำคัญกับการป้องกันประเทศก่อน และทรงปฏิเสธอย่างแข็งขันเมื่อมีผู้เสนอให้ส่งกองเรือออกสำรวจทะเลอีก ขุนนางฝ่ายต่อต้านการเดินเรือได้ทำลายเอกสารบันทึกและแผนที่การท่องสมุทรของเจิ้งเหอ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการรื้อฟื้นกองเรือมหาสมบัติขึ้นมาอีก ชนรุ่นหลังจึงเรียนรู้การเดินเรือของเจิ้งเหอส่วนใหญ่จากบันทึกของหม่าฮวน และจารึกบนแผ่นหินเท่านั้น ยุคแห่งการขยายอิทธิพลกว้างไกลที่สุดของชาติจีน กลับติดตามมาด้วยยุคที่จีนปิดตัวเองจากโลกอย่างที่สุด ผู้นำของโลกในต้นศตวรรษที่ 15 ได้หันหลังเดินออกจากประตูประวัติศาสตร์ไป ในขณะที่โปรตุเกสกำลังเริ่มต้นส่งกองเรือลงมาสำรวจชายฝั่งทะเลตะวันตกของทวีปอาฟริกา และไม่ถึงร้อยปีต่อมา ชาวยุโรปเดินเรือไปทั่วโลก ค้าขายต่างแดน ปฏิวัติอุตสาหกรรม และนำโลกตะวันตกไปสู่ยุคแห่งความทันสมัย ชาวยุโรปยึดอาฟริกา อเมริกา และประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเป็นเมืองขึ้น ประเทศจีนเองก็ได้รับผลร้ายกาจของการปิดประเทศในอีก 300 ปีต่อมา เจิ้งเหอเป็นผู้ริเริ่มสิ่งที่อาจทำให้ประเทศจีนเจริญรุ่งเรืองกว่าประเทศใดๆ แต่โชคไม่ดีที่จักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงองค์ต่อๆ มาปฏิเสธการริเริ่มอันยิ่งใหญ่ของเขา และนับตั้งแต่นั้นมา จีนไม่มีกองเรือใดที่จะยิ่งใหญ่เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับกองเรือมหาสมบัติของเจิ้งเหออีกเลย และกว่าที่โลกจะได้รู้จักกองเรือที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ก็ต้องรอจนถึงเกิดกองเรือรุกรานสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1

 http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2006/01/K4006442/K4006442.htmlจากคุณ : sss - [ 7 ม.ค. 49 17:55:10 A:58.9.20.64 X: TicketID:114349 ]
จากคุณ : sss - [ 7 ม.ค. 49 17:54:40 A:58.9.20.64 X: TicketID:114349 ]


没有评论:

发表评论